คณาจารย์ มบส. ผนึกกำลังคว้าเหรียญเงินในการนำเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติ The 5th International Symposium on Creative Fine Art 2024

{Recent News}
คณาจารย์ มบส. ผนึกกำลังคว้าเหรียญเงินในการนำเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติ The 5th International Symposium on Creative Fine Art 2024
—-
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กชกร ชิตท้วม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนันท์พัชร อัศวเสมาชัย และรองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย พุหิรัญ ผนึกกำลังคว้าเหรียญเงินในการนำเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติ The 5th International Symposium on Creative Fine Art 2024 จากผลงานการสร้างสรรค์นาฏยศิลป์ ชุด สานสรรค์ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) (ภายใต้การดำเนินงานโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา)
การสานปลาตะเพียนฉลุไทยลายวิจิตรเป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาตะเพียนฉลุไทยลายวิจิตร ชุมชนสามัคคีธรรม แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2549 จากการรวมกลุ่มของคนในชุมชน นำโดย คุณณัฐธร แดงสีพล เพื่อผลิตปลาตะเพียนสานใบลานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแนวคิดการนำลายขนมปังขิง ซึ่งเป็นลายฉลุไม้ช่องลมของเรือนขนมปังขิง ในสมัยรัชกาลที่ 6 มาฉลุลายบนใบลาน ทำให้ผลงานมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
การสานปลาตะเพียนใบลานเป็นอาชีพเก่าแก่ที่ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนานกว่า 100 ปี โดยสันนิษฐานว่าชาวไทยมุสลิมซึ่งล่องเรือขายเครื่องเทศอยู่ตามแม่น้ำเจ้าพระยาและอาศัยอยู่ในเรือเป็นผู้ประดิษฐ์ปลาตะเพียนสานด้วยใบลานขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้แรงบันดาลใจมาจากความผูกพันกับแม่น้ำและความคุ้นเคยกับรูปร่างหน้าตาของปลาตะเพียน ซึ่งนิยมนำมาแขวนไว้ที่เปลเด็ก ด้วยปลาตะเพียนเป็นปลาที่แพร่ขยายพันธุ์ได้ง่ายหากินเก่งชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่แสดงถึงความรักความผูกพันในกลุ่ม จึงมีความเชื่อว่า เด็กจะโตขึ้นแล้วมีความรักความผูกพันกันภายในครอบครัว เลี้ยงง่ายโตเร็ว มีความขยันหมั่นเพียรเหมือนชื่อปลาตะเพียนและอ่อนโยนปรับตัวเก่งเหมือนใบลานที่มีความเหนียวทนทานยืดหยุ่นไปได้ทุกทิศทาง นอกจากนี้ยังมีการนำมาแขวนตกแต่งภายในบ้านเรือนด้วยความเชื่อว่าปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์มงคลแห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เป็นสิ่งสิริมงคล ทำให้เงินทองไหลมาเทมา และช่วยขจัดสิ่งไม่ดีออกไป
ด้วยความสำคัญดังกล่าวข้างต้นคณะผู้สร้างสรรค์จึงได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการสานปลาตะเพียนฉลุไทยลายวิจิตร ในประเด็นที่มากรรมวิธีการผลิต การนำไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนความเชื่อ มาสร้างสรรค์ผลงานนาฏยศิลป์ ภายใต้ชื่อชุดการแสดง “สานสรรค์” เพื่อเป็นการส่งเสริม เผยแพร่ และพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนสามัคคีธรรม แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร
.
ติดตามข่าวสารต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้ที่ : www.bsru.ac.th และ www.prinfo.bsru.ac.th
—-
ภาพ/ข่าวโดย : เครือข่ายนักประชาสัมพันธ์
—-
#BSRURecentnews คณาจารย์ มบส. ผนึกกำลังคว้าเหรียญเงินในการนำเสนอผลงานวิชาการระดับนานาชาติ The 5th International Symposium on Creative Fine Art 2024 #BSRUNews
.
.